ผู้สัมภาษณ์ อยากให้เกริ่นนำสักนิดนึงครับว่า ไปเป็นอาสาสมัครอยู่ที่ใดในภูฏาน ตั้งแต่เมื่อไหร่ แล้วภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากกรมความร่วมมือระหว่างประเทศมีอะไรบ้างครับ?
จ๋อมแจ๋ม: แจ๋มอยู่ที่จังหวัดซีรัง (Tsirang) ค่ะ เป็นจังหวัดทางภาคใต้ของภูฏาน อีกไม่ไกลจะถึงชายแดนที่ติดกับอินเดีย ผู้คนเลยมักจะใช้ทางหลวงที่ผ่านจังหวัดซีรังไปชายแดนเพื่อซื้อของมาขายที่จังหวัดของตัวเองค่ะ ทำให้ซีรังมีลักษณะคล้ายคลึงกับ อ. หาดใหญ่ ของไทยเลย คือผู้คนจะมาต่อรถหรือหยุดพักเพื่อไปชายแดนที่ติดกับมาเลเซียค่ะ
ในฐานะอาสาสมัครภายใต้โครงการ OGOP Model II ที่จังหวัดซีรัง แจ๋มมีหน้าที่หลักในการเก็บข้อมูลในชุมชนเพื่อสนับสนุนการตั้งศูนย์การเรียนรู้ และส่งเสริมชาวบ้านในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่นค่ะ
ติงติง: ติงเข้าร่วมโครงการอาสาสมัครเพื่อนไทยในภูฏานรุ่นเดียวกับแจ๋มเลยค่ะ คือปฏิบัติงานในภูฏานตั้งแต่ธันวาคม 2562 – ธันวาคม 2563 ค่ะ ภารกิจที่ได้รับมอบหมายจาก TICA ก็จะคล้าย ๆ กับแจ๋มเลยค่ะ คือมีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืนตามแนวทางของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน แต่ติงจะประจำอยู่ที่อำเภอยูซู (Eusu) จังหวัดฮา (Haa) ค่ะ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของภูฏานค่ะ
จ๋อมแจ๋ม: แจ๋มขออนุญาตขยายความเพิ่มเติมเกี่ยวกับภารกิจของพวกเราอย่างนี้นะคะ การเก็บข้อมูลในชุมชนก็เช่น ข้อมูลรายรับรายจ่าย ข้อมูลกลุ่มอาชีพ และวิถีชีวิต เพื่อที่จะให้ TICA และผู้เชี่ยวชาญได้นำข้อมูลไปออกแบบกิจกรรมที่จะช่วยลดรายจ่าย ตามมาด้วยการเพิ่มรายได้ ให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิตและวัตถุดิบที่มีอยู่แล้วในชุมชนค่ะ
ต่อมาคือการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ ในโครงการจะใช้คำว่า Community Learning Center หรือ CLC ค่ะ ที่ซีรังแจ๋มวางแผนว่าจะใช้โรงเก็บน้ำผึ้ง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เราช่วยพัฒนา เป็นที่จัดศูนย์เรียนรู้ค่ะ แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยค่ะ เพราะมีสิ่งที่ต้องคิดหลายอย่างทั้งเรื่องระยะทาง เรื่องคนดูแล และเรื่องความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้าน ตอนนี้จึงยังอยู่ในกระบวนการปรึกษาหารือค่ะ
ส่วนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OGOP เราจะประชุมร่วมกับชาวบ้านเพื่อระดมสมองกันในการวิเคราะห์ Demand และ Supply ด้วยนะคะ เพื่อให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของโครงการให้มากที่สุดค่ะ
ติงติง: กิจกรรมหลักอีกอย่างหนึ่งในแผนงานคือการส่งเสริม Community-Based Tourism หรือ CBT ซึ่งหมายถึง การท่องเที่ยวโดยชุมชนในจังหวัดฮา ที่ติงไปปฏิบัติงานค่ะ จังหวัดฮาขึ้นชื่อเรื่องภูมิประเทศที่สวยงามอยู่แล้ว มีป่าไม้และหุบเขา มีความเงียบสงบ เหมาะแก่การส่งเสริมการท่องเที่ยวมากเลยค่ะ เช่น การพักผ่อน เดินเขา ปั่นจักรยาน และเรียนรู้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม โดยระหว่างที่อยู่ในพื้นที่แจ๋มพยายามรวมรวมข้อมูลให้ทาง TICA นำไปใช้ในวางแผนพัฒนาให้ชุมชนนี้เป็นชุมชนต้นแบบด้านการท่องเที่ยวชุมชนค่ะ โดยจะมีทั้ง homestay และผลิตภัณฑ์ OGOP เป็นจุดขายค่ะ เราหวังว่า เมื่อกิจกรรมนี้มีผลเป็นรูปธรรมแล้ว ชุมชนอื่น ๆ จะได้เข้ามาเรียนรู้แล้วเอาไปปรับใช้ในพื้นที่ของตัวเองต่อไปค่ะ
ผู้สัมภาษณ์ ชาวเมืองในพื้นที่ที่ไปปฏิบัติงานอยู่ เค้ามีวิถีชีวิตอย่างไรบ้างครับ?
ติงติง: ผู้คนในเมืองที่ติงไปอยู่ เขาจะเรียกตัวเองว่า ชาวฮับ จะอาศัยในที่สูง ยังชีพด้วยการเลี้ยงสัตว์ค่ะ เช่น จามรี และวัว โดยจะมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากนมจามรี โดยจะเป็นชีสแข็ง เรียกว่า ชูโก (Chuko) และแปรรูปผลิตภัณฑ์จากนมวัวเป็นชีสพื้นถิ่น (Datshi cheese) เนย โยเกิร์ต และชีสสไตล์อิตาเลียนค่ะ นอกจากนี้ ก็นิยมประกอบอาชีพด้านการเกษตร เช่น แครอท มันฝรั่ง หัวผักกาด ข้าวบาร์เลย์ และบัควีท เรียกได้ว่ามีวัตถุดิบค่อนข้างหลากหลาย อย่างไรก็ดีจังหวัดฮามีอากาศหนาวเย็น ทรัพยากรทางอาหารจึงมีจำกัดตามฤดูกาล ต้องมีการเก็บฟืนและถนอมอาหารไว้ในยามฤดูหนาวค่ะ จากการคลุกคลีกับชาวบ้านระหว่างที่เป็นอาสาสมัคร พบว่า สิ่งที่ชาวบ้านต้องการได้รับการส่งเสริม คือการแปรรูปผลผลิตให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ในชุมชนและด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชนค่ะ
จ๋อมแจ๋ม: จังหวัดซีรังมีประชากรที่นับถือศาสนาฮินดูเชื้อสายเนปาลีอาศัยอยู่เยอะกว่าจังหวัดอื่นของภูฏานค่ะ โดยแต่ละหมู่บ้านจะแบ่งตามเผ่าหรือวรรณะ แล้วแต่ว่าใครเข้าไปจับจองก่อน ส่วนการดำรงชีพ ชาวบ้านกลุ่มหลักที่แจ๋มทำงานด้วยคือกลุ่มเลี้ยงผึ้ง เผ่าเชอร์ปา สืบเชื้อสายมาจากทิเบต มีประมาณ 30 คน โดยหลัก ๆ ทำงานกับประธานกลุ่มชื่อคุณเชอริ่ง เชอร์ปา (Tshering Sherpa) ค่ะ เป็นเผ่าที่รักการทำงานหนัก มีความคิดสร้างสรรค์ ทำให้ผลงานของหมู่บ้านนี้โดดเด่นจนถูกตั้งให้เป็นหมู่บ้านน้ำผึ้ง (Honey Village) โดยสำนักงานโครงการส่วนพระองค์ในสมเด็จพระราชินีเจตซุน เพมาวังชุก (Queen’s Project Office - QPO) ค่ะ โดยทาง QPO วางแผนให้เป็นชุมชนในการเรียนรู้เรื่องการเลี้ยงผึ้งและวิถีชีวิตชาวบ้านในอนาคต และมีแผนที่จะพัฒนาไปสู่การท่องเที่ยวชุมชนด้วยค่ะ นอกจากกลุ่มเลี้ยงผึ้งแล้ว ชาวบ้านโดยทั่วไปก็ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและปศุสัตว์ควบคู่กันไปค่ะ ทั้งปลูกผักและเลี้ยงวัวนม และหรือ ไก่ไข่ ไก่เนื้อ หมู แพะ ปลา แต่ข้อจำกัดทางภูมิประเทศที่เป็นเนินเขาสูงชันทำให้ไม่สามารถผลิตในปริมาณมากได้ กลุ่มลูกค้าหลักคือคนในเมืองหลวง โดยส่วนมากเป็นการขายวัตถุดิบและผักดอง นอกจากนี้ ข้อจำกัด
ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็จะคล้าย ๆ ชุมชนที่ติงติงไปเป็นอาสาสมัครอยู่เลยค่ะ คือชาวบ้านยังขาดองค์ความรู้ด้านการแปรรูปอาหาร ที่แจ๋มเคยเห็นนะคะ เค้าขายกล้วยสด แต่ไม่ทำกล้วยฉาบ แต่กลับซื้อกล้วยฉาบจากอินเดียมาขายแทน หรือมีมะนาว มีน้ำผึ้ง แต่ไม่เคยทำเครื่องดื่มน้ำผึ้งมะนาว แต่กลับซื้อเครื่องดื่มน้ำผึ้งมะนาวใส่ขวดที่นำเข้าจากไทยมาขาย เป็นต้นค่ะ
ผู้สัมภาษณ์ เมื่อเกิดการระบาดของ COVID-19 ขึ้นในภูฏาน วิถีชีวิตชาวภูฏาน โดยเฉพาะในชุมชนที่ไปปฏิบัติงานอยู่นั้น ได้รับผลกระทบมากน้อยอย่างไรครับ?
จ๋อมแจ๋ม: อย่างแรกเคยคือภาวะข้าวยากหมากแพงค่ะ คือจังหวัดซีรังเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ผลิตอาหารหลักของภูฏาน ชาวบ้านที่นี่ทำงานหนักมากในการปลูกเพิ่มและส่งสินค้าไปขายในกรุงทิมพู เมืองหลวง ปัญหาคือ ราคาขายที่ทิมพู สูงกว่าที่ซีรัง ทำให้คนซีรังไม่ยอมขายสินค้าในจังหวัดตัวเอง เลยเกิดการขาดแคลนสินค้าบางอย่างค่ะ อย่างที่สอง ชาวบ้านที่เปิดร้านค้าในเมืองจะไม่สามารถเปิดร้านได้ตามเวลาที่เคยเปิดค่ะ และบางร้านถึงกับต้องปิดกิจการถาวร เช่น ร้านคาราโอเกะ สนุ๊กเกอร์ ทำให้เจ้าของกิจการหลายคนตัดสินใจสมัครเป็น DeSuup หรืออาสาสมัครชุดส้มของทางการค่ะ เพื่อให้ได้ค่าเบี้ยเลี้ยงสำหรับพอกินพอใช้ไปวัน ๆ อย่างที่สาม ในต่างจังหวัดที่ห่างไกลอย่างซีรัง ทางรัฐจะนำอาหารไปส่งให้ชาวบ้านแบบไม่คิดเงิน และส่วนใหญ่จะเป็นการที่ชาวบ้านสั่งอาหารมาส่งที่บ้าน ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ในภูฏาน ระบบจึงยังมีความสับสนมาก ๆ ค่ะ
ผู้สัมภาษณ์ ทางรัฐบาลมีมาตรการให้เงินเยียวยาบ้างไหมครับ?
จ๋อมแจ๋ม: มีค่ะ อาชีพที่พึ่งพาการท่องเที่ยวจะได้รับการเยียวยามากที่สุด เช่น ไกด์นำเที่ยว เจ้าของกิจการหรือพนักงานโรงแรมและร้านอาหาร เป็นต้น โดยการได้รับเงินเยียวยา คนเหล่านั้นต้องทำงานแลก เช่น เป็นกรรมกรก่อสร้าง หรือช่วยขนของจากรถบรรทุก เนื่องจากแรงงานชาวอินเดียถูกส่งกลับอินเดียทั้งหมด แต่งานก่อสร้างอาคาร ถนน การเชื่อมต่อไฟฟ้า หรือท่อประปา หรือการขนส่งสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันยังคงดำเนินต่อไป ทางรัฐจึงพยายามใช้คนภูฏานมาทำงานเหล่านี้ ซึ่งปกติเป็นงานที่คนในเมืองหลีกเลี่ยงที่จะทำค่ะ ติงติง: รัฐบาลภูฏานมีมาตรการที่จริงจังในการแก้ไขปัญหาและทำงานอย่างต่อเนื่อง มีมาตรการดูแลเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวที่ขาดรายได้ มีการเปิดรับสมัครและอบรมสำหรับผู้ที่สนใจเป็นอาสาสมัคร (Desuup) เพื่อบริการและดูแลประชาชนในช่วงระบาดของ COVID-19 ซึ่งจะได้เบี้ยเลี้ยงอย่างที่แจ๋มได้กล่าวไปแล้วนะคะโดยสาเหตุประการหนึ่งที่จังหวัดฮามีมาตรการจริงจังก็เนื่องจากอยู่ไม่ไกลมากจากพรมแดนที่ติดกับจีน นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมการผลิตและแปรรูปอาหารจากนมวัว โดยเฉพาะชีสพื้นถิ่น (Datshi cheese) ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารที่สำคัญ และเพื่อไม่ให้สินค้าขาดตลาด จึงต้องผลิตให้เพียงพอต่อผู้บริโภคค่ะ ดังนั้น ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ผลิตชีสยังพอ ทำได้อยู่ แต่ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพด้านอื่น ๆ ก็จะได้รับผลกระทบมากหน่อยเพราะสูญเสียช่องทางการหารายได้ไปค่ะ
ผู้สัมภาษณ์ จากที่น้อง ๆ เล่ามา แสดงว่า ผลกระทบด้านเศรษฐกิจจาก COVID-19 ค่อนข้างหนัก ในขณะที่ชาวบ้านก็ยังไม่มีความรู้ในการแปรรูป หรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตของตัวเอง ทีนี้พอเราได้ทำโครงการ OGOP Model II ที่เข้าไปช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบท้องถิ่น จนถึงตอนนี้ที่ทำสำเร็จแล้วมีผลิตภัณฑ์อะไรบ้างครับ แล้วคิดว่า จะช่วยส่งเสริมรายได้และการจ้างงานของชาวบ้านในพื้นที่ได้อย่างไรบ้างครับ?
จ๋อมแจ๋ม: ตั้งแต่ช่วงก่อนและระหว่าง lockdown แจ๋มได้ทดลองใช้วัตถุดิบในชุมชนมาทดลองทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มากกว่า 10 อย่าง เพื่อเป็นตัวอย่างให้ชาวบ้านและข้าราชการดู โดยช่วยกันลงความเห็นว่า ผลิตภัณฑ์ตัวไหนน่าจะมี ความเป็นไปได้ในการนำไปพัฒนาและทำการตลาดต่อไป แจ๋มพยายามที่จะไม่ชี้นำ และให้ชาวบ้านเสนอผลิตภัณฑ์เองค่ะ ผลิตภัณฑ์แรกที่เริ่มต้นทำคือ เครื่องดื่มบัวหิมะค่ะ เพราะชาวบ้านปลูกบัวหิมะกันมากจนล้นตลาด หลังจากได้รับการอบรมผ่านระบบทางไกลจากผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารจากมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ จึงได้เป็นเครื่องดื่มน้ำบัวหิมะรสน้ำผึ้งมะนาวพาสเจอร์ไรซ์ สามารถเก็บได้ 2 สัปดาห์ในตู้เย็น มีสรรพคุณช่วยลดน้ำตาลในเลือดค่ะ ผลิตภัณฑ์เด่นอีกตัว คือลิปบาล์มน้ำผึ้ง ซึ่งเกิดจากการพยายามใช้วัตถุดิบที่ได้จากการเลี้ยงผึ้ง โดยปกติชาวบ้านจะเก็บเกี่ยวแต่น้ำผึ้งและทิ้งรังผึ้ง โดยตัวรังผึ้งนี่เองคือขี้ผึ้งที่สามารถทำมาใช้งานได้หลากหลาย ทางเราจึงช่วยพัฒนาโดยเอามาทำลิปบาล์มค่ะ ติงติง: ขอเน้นช่วงที่สถานการณ์ระบาดของ COVID-19 และรัฐบาลภูฏานมีมาตรการ lockdown แล้วนะคะ โครงการ OGOP Model II ได้จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หรือ workshop ในรูปแบบออนไลน์ค่ะ โดยผลิตภัณฑ์ที่จัด การอบรมนั้นได้ผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์ในที่ประชุมของชุมชนมาแล้ว ซึ่งมี 2 ผลิตภัณฑ์ คือ Caciocavallo Cheese (ชีสชนิดหนึ่ง) และ Kapche (แป้งสาลีชนิดหนึ่ง) ค่ะ ซึ่งก็มาจากวัตถุดิบที่มีเยอะอยู่แล้วในพื้นที่ โดยทางผู้เชี่ยวชาญมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่จัดฝึกอบรมให้วิทยากรต้นแบบชาวภูฏาน จำนวน 5 คน ในลักษณะ Training of Trainers ซึ่งเค้าจะต้องไปสอนชาวบ้านต่อไปค่ะ เนื่องจากเราไม่สามารถเดินทางไปสอนให้ที่ภูฏานได้ แล้วชาวภูฏานเองก็ไม่สามารถมารวมตัวกันมาก ๆ ด้วย ตามมาตรการ social distancing แต่การฝึกอบรมออนไลน์ก็ให้ผลเป็นที่น่าพอใจนะคะ ถึงจะมีปัญหาด้านการสื่อสารและการสาธิตบ้าง แต่ก็ได้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลลัพธ์ออกมาค่ะ ติงคิดว่า เมื่อชาวบ้านได้รับการฝึกอบรมและมีการต่อยอดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน ก็จะช่วยสร้างงานให้เค้าได้ค่ะ ซึ่งงานที่ว่า ก็จะมีรายได้สูงขึ้นด้วยเพราะเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้า และสามารถจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยว หลังจากที่ทาง TICA และผู้เชี่ยวชาญได้พัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่จังหวัดฮาแล้วได้อีกด้วยนะคะ
โดยที่ภาคการท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบหนักเช่นกัน แล้วในแผนงานของโครงการก็มีกิจกรรมการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน (community-based tourism) น้อง ๆ คิดว่า ข้อมูลและประสบการณ์ที่รวบรวมได้จากการเป็นอาสาสมัครที่ภูฏานมา 1 ปี จะนำไปใช้ประโยชน์ในกิจกรรมนี้ได้อย่างไรบ้างครับ?
ติงติง: ติงได้กล่าวถึงศักยภาพด้านการท่องเที่ยวไปพอสมควรแล้ว ขอเสริมอย่างนี้นะคะ ซึ่งจังหวัดฮา Haa นั้นเดินทางสะดวกเพราะอยู่ใกล้กับจังหวัดปาโร (Paro) ซึ่งเป็นที่ตั้งของสนามบิน นอกจากทัศนียภาพที่สวยงาม ชาวบ้านในจังหวัดฮา ยังมีวัฒนธรรมประจำถิ่นที่ยังคงเข้มแข็งและมีเสน่ห์ เช่น อาหาร วัดวาอาราม ติงคิดว่า โครงการ OGOP Model II ควรสนับสนุนไกด์ท้องถิ่น โฮมสเตย์ และเส้นทางการเดินป่า โดยมีจัดการงานอย่างเป็นระบบและการสื่อสารทาง online อย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้จะศักยภาพด้านวัฒนธรรมและความเป็นกันเองของชาวบ้านให้เป็นประโยชน์สูงสุดค่ะ ภายหลังจากที่สถานการณ์ COVID-19 คลี่คลายแล้ว จะได้มีนักท่องเที่ยวมาเยอะ ๆ ให้ชาวบ้านได้มีรายได้ อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์ COVID-19 ระบาดขึ้นมาอีก หรือมีโรคคล้าย ๆ กันเกิดขึ้นมาอีก แล้วชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวไม่ได้ อย่างน้อยจังหวัดฮาก็น่ามีศักยภาพในการรับนักท่องเที่ยวภายในประเทศได้มากขึ้นนะคะ จ๋อมแจ๋ม: แม้ว่าจังหวัดที่แจ๋มไปปฏิบัติงานจะยังไม่ได้รับการยืนยันให้เป็นจังหวัดที่สามารถท่องเที่ยวได้สำหรับคนต่างชาติ (ต้องได้รับการรับรองจากทางภาครัฐ เช่น จังหวัดฮา จังหวัดบุมทัง เป็นต้น) และโครงการ OGOP Model II ก็คัดเลือกจังหวัดฮาในการพัฒนาชุมชนต้นแบบด้านการท่องเที่ยว แต่จังหวัดซีรังเองมีการเตรียมการเพื่อการพัฒนาด้านนี้ อย่างเป็นรูปธรรมอยู่นะคะ เช่น การวางแผนสร้างศูนย์ให้ข้อมูลนักท่องเที่ยวในสวนสาธารณะ แต่ต้องระงับไปเนื่องจาก ทุนส่วนใหญ่นำไปช่วยเหลือเรื่องโควิดค่ะ หรือการเตรียมสร้างหอชมนก เป็นต้นค่ะ นอกจากนี้ หากมีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ชุมชน (CLC) แล้ว ก็อาจจะมีการทำทัวร์สั้น ๆ เพื่อเรียนรู้งานเกษตรกรรม ปศุสัตว์ การทำอาหารท้องถิ่น และงานหัตถกรรมได้คะ ซึ่งแจ๋มได้เคยแลกเปลี่ยนกับผู้นำชุมชนและชาวบ้านระหว่างการลงพื้นที่และการประชุมชุมชนอยู่เป็นประจำ มีชาวบ้านบางคนทำป้ายบอกทางหรือป้ายห้องน้ำเป็นภาษาอังกฤษด้วย น่ารักมาก ๆ มั่นใจว่าข้อมูลที่ได้รวบรวมให้ TICA จะเป็นประโยชน์ในการต่อยอดเรื่องการท่องเที่ยวในจังหวัดซีรังในอนาคต (ถ้ามีนะคะ) ได้อย่างแน่นอนค่ะ
สุดท้ายนี้ อยากให้น้อง ๆ ช่วยให้คำแนะนำ หรือให้กำลังใจ ผู้ที่อยากจะลองเป็นอาสาสมัครกับ TICA ครับ
จ๋อมแจ๋ม: เนื่องจากการเป็นอาสาสมัคร FFT นี้จะเป็นลักษณะกึ่งอาสาสมัครกึ่ง professional คือต้องมีองค์ความรู้เฉพาะด้านมากพอที่จะเก็บข้อมูลหรือสร้างงานได้ ไม่เหมือนกับนักเรียนแลกเปลี่ยนที่จะมีเพียงความสนุกเพียงอย่างเดียว จึงแนะนำให้น้อง ๆ ศึกษาลักษณะงานและประเทศที่ตัวเองตั้งใจจะไปทำงานให้มาก ๆ เพื่อให้มั่นใจว่าเราจะใช้ชีวิตส่วนตัวและทำงานได้อย่างปกติสุขค่ะ และแน่นอนว่าทุกคนมีประสบการณ์เดิมของตัวเองมาต่างกัน ทำให้มีความคาดหวังจากประสบการณ์ใหม่ต่าง ๆ กันไป และบริบทของพื้นที่และงานก็จะต่างกันไปในแต่ละปี (แม้จะเป็นประเทศเดียวกัน) รุ่นพี่และ TICA สามารถให้คำแนะนำได้ในระดับหนึ่ง แต่สุดท้ายแล้วต้องเป็นเราที่ต้องปรับตัวให้ได้นะคะ และสุดท้ายแล้วประสบการณ์อะไรก็ตามจะน่าจดจำเสมอ พอจบโครงการแล้วเราจะยังได้เรียนรู้จากประสบการณ์นั้นไม่รู้จบ อันนี้ประสบการณ์ตรง สิ่งที่เราตัดสินว่าไม่ดี ไม่ชอบ ณ ขณะนั้น เราอาจจะร้องอ๋อเอาตอน 1 ปีผ่านไปก็ได้ค่ะ ติงติง: การเข้าร่วมกับโครงการอาสาสมัครเพื่อนไทย ทำให้ได้เรียนรู้การทำงานกับเจ้าหน้าที่ต่างประเทศ พัฒนาด้านสื่อสารในการทำงาน และได้เรียนรู้วัฒนธรรมที่หลากหลาย หากมีโอกาสอยากเชิญชวนให้ลองเป็นอาสาสมัคร เพื่อจะ ได้แบ่งปันความรู้ที่มีให้เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น และเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ ๆ นะคะ
กล่องแนะนำโครงการ
“โครงการ OGOP Model II” เป็นโครงการพัฒนาชุมชนต้นแบบอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในภูฏาน โดยเป็นโครงการระยะที่ 2 (phase II) หลังจากที่โครงการระยะที่ 1 ประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ โครงการฯ นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาชุมชนต้นแบบอย่างยั่งยืน 2 แห่ง ในจังหวัด Haa และจังหวัด Tsirang ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นประจำชุมชน โดยเน้นการมีส่วนร่วมและการเป็นเจ้าของโครงการโดยชุมชนเอง (local ownership) ในลักษณะคล้ายกับโครงการ OTOP ของไทย อันเป็นที่มาของชื่อโครงการ โดย OGOP ย่อมากจาก One Gewog One Product (Gewog) เป็นเขตปกครอง ซึ่งอาจเทียบได้กับตำบลของไทย) นอกจากนี้ โครงการฯ ยังผนวกเรื่องแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน และการสร้างศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบเข้าไป
สัมภาษณ์โดย
นายณฐวรรษ พงษ์สุวรรณ นักการทูตปฏิบัติการ ส่วนให้ความร่วมมือกับต่างประเทศ 2 กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ
ประสบการณ์การปฏิบัติงานในภูฏานช่วง COVID-19 ของอาสาสมัครไทยภายใต้โครงการความร่วมมือเพื่อ
การพัฒนาชุมชนต้นแบบอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับชุมชน OGOP ของราชอาณาจักรภูฏาน หรือ “โครงการ OGOP Model II”
การพัฒนาชุมชนต้นแบบอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับชุมชน OGOP ของราชอาณาจักรภูฏาน หรือ “โครงการ OGOP Model II”
ผู้สัมภาษณ์ อยากให้เกริ่นนำสักนิดนึงครับว่า ไปเป็นอาสาสมัครอยู่ที่ใดในภูฏาน ตั้งแต่เมื่อไหร่ แล้วภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากกรมความร่วมมือระหว่างประเทศมีอะไรบ้างครับ?
ผู้สัมภาษณ์ ชาวเมืองในพื้นที่ที่ไปปฏิบัติงานอยู่ เค้ามีวิถีชีวิตอย่างไรบ้างครับ?
ผู้สัมภาษณ์ เมื่อเกิดการระบาดของ COVID-19 ขึ้นในภูฏาน วิถีชีวิตชาวภูฏาน โดยเฉพาะในชุมชนที่ไปปฏิบัติงานอยู่นั้น ได้รับผลกระทบมากน้อยอย่างไรครับ?
ผู้สัมภาษณ์ ทางรัฐบาลมีมาตรการให้เงินเยียวยาบ้างไหมครับ?
ผู้สัมภาษณ์ จากที่น้อง ๆ เล่ามา แสดงว่า ผลกระทบด้านเศรษฐกิจจาก COVID-19 ค่อนข้างหนัก ในขณะที่ชาวบ้านก็ยังไม่มีความรู้ในการแปรรูป หรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตของตัวเอง ทีนี้พอเราได้ทำโครงการ OGOP Model II ที่เข้าไปช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบท้องถิ่น จนถึงตอนนี้ที่ทำสำเร็จแล้วมีผลิตภัณฑ์อะไรบ้างครับ แล้วคิดว่า จะช่วยส่งเสริมรายได้และการจ้างงานของชาวบ้านในพื้นที่ได้อย่างไรบ้างครับ?
โดยที่ภาคการท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบหนักเช่นกัน แล้วในแผนงานของโครงการก็มีกิจกรรมการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน (community-based tourism) น้อง ๆ คิดว่า ข้อมูลและประสบการณ์ที่รวบรวมได้จากการเป็นอาสาสมัครที่ภูฏานมา 1 ปี จะนำไปใช้ประโยชน์ในกิจกรรมนี้ได้อย่างไรบ้างครับ?
สุดท้ายนี้ อยากให้น้อง ๆ ช่วยให้คำแนะนำ หรือให้กำลังใจ ผู้ที่อยากจะลองเป็นอาสาสมัครกับ TICA ครับ
สัมภาษณ์โดย
นายณฐวรรษ พงษ์สุวรรณ
นักการทูตปฏิบัติการ
ส่วนให้ความร่วมมือกับต่างประเทศ 2
กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ